ประวัติและอาชีพ ของ สิงห์ดำ อ.อุกฤษณ์

ชีวิตวัยเด็กและการเริ่มต้นอาชีพ

สิงห์ดำ อ.อุกฤษณ์ มีชื่อจริงว่า สมบูรณ์ ยังทรัพย์ยอด ชื่อเล่น หนุ่ม เกิดที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นลูกคนที่ 6 ในบรรดาพี่น้อง 8 คน เขาเริ่มฝึกมวยไทยเมื่ออายุ 9 ขวบกับครูชาญ ฟุ้งเฟื่อง ครูประจำโรงเรียนซึ่งเป็นอดีตนักมวยไทยที่ค่ายเลือดตะวันออก เขาชกประมาณ 20 ครั้งในละแวกบ้านของเขาในชื่อ สมิงหนุ่ม เลือดตะวันออก ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น สิงห์หนุ่ม ศิษย์อาดัม จนเป็นที่รู้จักในพื้นที่ ความสำเร็จของเขาได้รับความสนใจจากวิชิต ไพรอนันต์หรือวิชิต ลูกบางปลาสร้อย อดีตยอดมวยในช่วงทศวรรษที่ 2510 ถึง 2520 ซึ่งเป็นผู้ฝึกสอนมวยไทยที่มีชื่อเสียงในภาคตะวันออกในขณะนั้น วิชิตพาเขาไปฝึกที่ค่ายไพรอนันต์/ลูกบางปลาสร้อย ซึ่งมีอุกฤษณ์ ตันสวัสดิ์ เป็นเจ้าของร่วม[1] โดยมีเป้าหมายที่จะฝึกฝนความสามารถของเขาให้กลายเป็นยอดมวย ภายใต้ชื่อใหม่ “สิงห์ดำ อ.อุกฤษณ์” เขาเปิดตัวที่กรุงเทพฯ ด้วยการเอาชนะน็อกหยกไทย ศิษย์ อ.[2] ต่อมาเขาได้เปลี่ยนชื่อจริงเป็นจงสมบูรณ์ ยังทรัพย์ยอด[3]

ในเวลาต่อมา สิงห์ดำ ได้เริ่มชกที่สนามมวยลุมพินี และชนะ 17 ไฟต์ติดต่อกัน รวมถึงเอาชนะนักชกหน้าใหม่อย่าง “จอมถีบหน้า” โรจน์ณรงค์ ดาวแปดริ้ว และตะคร้อเล็ก เดชรัตน์

ช่วงรุ่งโรจน์

ในปี 2535 สิงห์ดำถูกจับคู่เจอกับ 1 ในนักชกฝีมือดีที่สุดแห่งยุคทองของมวยไทย แสนไกร ศิษย์ครูอ๊อด โดยเสมอกันและเอาชนะได้ในการรีแมตช์ ในปีเดียวกันนั้นเขายังเอาชนะ "พรานศอก 100 เข็ม" ยอดขุนพล ศิษย์ไตรภูมิ และดวงสมพงษ์ ป.พงษ์สว่าง 2 นักชกที่ขึ้นชื่อในด้านความทนทานและการโจมตีที่ทรงพลัง

สิงห์ดำชกกับยอดมวยในน้ำหนักไม่เกิน 120 ปอนด์ ด้วยลูกเตะซ้ายที่ทรงพลัง รวดเร็ว ทำให้เขาได้รับสมญานามว่า "แข้งซ้ายทะลายโลก" จากสื่อมวลชน วีระพล สหพรหม, แสนเมืองน้อย ลูกเจ้าพ่อมเหศักดิ์, ศิลปไทย จ๊อกกี้ยิม และโดยเฉพาะ "ยอดมวย 2 พ.ศ." แก่นศักดิ์ ส.เพลินจิต ต่างก็แพ้ให้กับเขาภายในปีเดียว ในการชกกับแก่นศักดิ์ เมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม 2536 ในศึกดาวรุ่งทีวีสี 7 ของสหสมภพ ศรีสมวงศ์ ยกที่ 2 เขาถูกหมัดฮุกขวาของแก่นศักดิ์ล้มลง จากนั้นไม่ถึง 20 วินาทีต่อมา เขาก็ต่อยแก่นศักดิ์ล้มลงด้วยฮุกซ้ายตามด้วยฮุกขวา แม้ว่าแก่นศักดิ์จะทำผลงานได้ดีตลอดยกที่เหลือ แต่สิงห์ดำก็ทำคะแนนแซงนักมวยรุ่นพี่ได้ด้วยการเตะซ้าย รวมถึงเทคนิคต่าง ๆ ตอบโต้สไตล์มวยฝีมืออันดุเดือดของแก่นศักดิ์[4] สิงห์ดำเป็นฝ่ายชนะ และไฟต์นี้ได้รับรางวัล Fight of the Year ประจำปี 2536 ชัยชนะเหนือแก่นศักดิ์เป็นไฟต์ที่เขาภาคภูมิใจที่สุด นอกจากนี้ สิงห์ดำยังได้เงินค่าตัว 250,000 บาท ซึ่งเป็นค่าตัวสูงสุดในอาชีพของเขา[2] เมื่อเทียบกันแล้ว ยอดมวยคนอื่น ๆ มีค่าตัวอยู่ที่ 100,000 บาท[5] และเป็นเรื่องยากที่นักมวย 1 คนจะได้ค่าตัว 200,000 บาทหรือมากกว่านั้น[6]

ตั้งแต่ปี 2534 ถึง 2539 สิงห์ดำถือเป็นนักมวยรุ่นแบนตัมเวทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย แม้ว่าเขาจะไม่สามารถคว้าแชมป์ได้ก็ตาม สิงห์ดำมีชื่อเสียงจากการชกกับแสนไกร ศิษย์ครูอ๊อดและ "ศอกขวาน" อนันตศักดิ์ พันธุ์ยุทธภูมิ สิงห์ดำชกเพื่อชิงแชมป์รุ่นแบนตัมเวทของสนามมวยลุมพินีสองครั้งกับแสนไกรแต่พลาดทั้งสองครั้ง วันที่ 30 กันยายน 2537 ในศึกเพชรยินดี สิงห์ดำมั่นใจว่าตัวเองเป็นฝ่ายชนะในการชกกับดาราเอก ศิษย์รุ่งทรัพย์ ที่สนามมวยลุมพินี แต่กรรมการกลับชูมือของดาราเอกเป็นผู้ชนะ เซียนมวยบนอัฒจันทร์ไม่พอใจและประท้วงคำตัดสินด้วยการปีนขึ้นไปบนรั้วเหล็ก ฝ่ายของสิงห์ดำก็ขึ้นไปบนเวที เจ้าหน้าที่สนามตัดสินใจประกาศว่าการชกคู่นี้ไม่มีการตัดสิน ก่อนจะมีการรีแมตช์ในศึกเพชรยินดีเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2537 ซึ่งไฟต์นี้จบลงด้วยการที่ดาราเอกชนะคะแนน[7] สิงห์ดำยังคงเอาชนะยอดมวยต่อไป โดยเอาชนะเจ้าเวหา ลูกทัพฟ้า หลายครั้ง เช่นเดียวกับ มานพชัย สิงห์มนัสศักดิ์

แขวนนวมและชีวิตปัจจุบัน

ในช่วงบั้นปลายอาชีพของเขา สิงห์ดำต้องขยับน้ำหนักขึ้นไปเป็นรุ่นจูเนียร์เฟเธอร์เวท (122 ปอนด์) จากนั้นในที่สุดก็เป็นรุ่นเฟเธอร์เวท (126 ปอนด์) และผลงานของเขาในฐานะนักมวยไทยก็เริ่มแย่ลง สิงห์ดำถือเป็นยอดมวยผู้โชคร้าย เพราะทุกครั้งที่เขาชกเพื่อชิงแชมป์ก็จะพลาดท่าให้กับคู่ต่อสู้ หลังจากพ่ายแพ้ให้กับนักมวยรองอย่าง อนันตชัย มนต์สงคราม ที่สนามมวยราชดำเนิน เมื่อปี 2546 เขาตัดสินใจแขวนนวมเมื่ออายุเพียง 29 ปีเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าเขาเริ่มไม่สนใจการลดน้ำหนัก ชัยชนะของสิงห์ดำต่อแก่นศักดิ์ ส.เพลินจิต และ "พยัคฆ์หน้าขรึม" วีระพล สหพรหม ถือเป็นไฟต์ที่ดีที่สุดของเขา เขาเคยถูกจับคู่ให้เจอกับนักมวยเตะจอมพลังอีกคนคือ เผด็จศึก เกียรติสำราญ เจ้าของฉายา แข้งซ้ายไฟพะเนียง แต่พวกเขาไม่ได้ชกกัน[3] หลายปีต่อมาเขาได้ให้สัมภาษณ์กับ สามารถ พยัคฆ์อรุณ และ ดีเซลน้อย ช.ธนะสุกาญจน์ ว่ามวยหมัดอย่าง ชาติชายน้อย ชาวไร่อ้อย เจ้าของฉายา มนุษย์หิน เป็นคู่ต่อสู้ที่ทำให้เขาเจ็บตัวมากที่สุดในชีวิตการชก[2]

หลังจากแขวนนวมแล้ว สิงห์ดำก็แต่งงานกับผู้หญิงคนหนึ่งจากจังหวัดชลบุรีปัจจุบันมีลูกสาว 2 คน เขาไปญี่ปุ่นเพื่อทำงานเป็นเทรนเนอร์มวยไทย ก่อนจะกลับมาเมืองไทยเป็นคนขับรถเทศบาล และเปิดแผงขายอาหารทะเลในตลาดรวมทั้งรับจ้างเป็นเทรนเนอร์มวยไทยในค่ายต่าง ๆ[8] ในปี 2565 เขาทำงานเป็นลูกจ้างและคนสวน[2]